วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นิทานอีสปเรื่อง "หมากับเงา"


นิทานอีสปเรื่อง "หมากับเงา"
หมาจรจัดตัวหนึ่งอาศัยอยู่ชายป่า เมื่ออาหารเริ่มหายาก วันหนึ่งมันจึงเดินลัดเลาะไปในหมู่บ้าน  เพื่อหาอาหาร
ต่อมา มันเห็นเนื้อชิ้นหนึ่งตกอยู่ มันจึงคาบแล้ววิ่งกลับเพื่อไปหลบกินยังที่อาศัย
 
ระหว่างทาง มันเดินผ่านสะพานไม้ที่ทอดข้ามลำน้ำ เมื่อมันก้มหน้ามองลงไป ก็เห็นเงาตัวเองในน้ำ มันคิดว่าเงาที่เห็นเป็นหมาอีกตัวกับเนื้อชิ้นใหญ่ในปาก



เนื่องจากเงาในน้ำมักใหญ่กว่าภาพจริงมาก เมื่อเห็นเนื้อในปากหมาอีกตัวใหญ่กว่าก็อยากได้ มันจึงคิดว่าถ้าเห่าขู่ให้หมาตัวนั้นตกใจ หมาตัวนั้นก็คงปล่อยเนื้อชิ้นนั้น แล้วมันก็จะได้กินเนื้อชิ้นใหญ่นั้นแทน
มันจึงอ้าปากเห่าเงาตัวเอง เมื่อมันอ้าปาก เนื้อก็หลุดร่วงลงน้ำ เมื่อเนื้อจมหาย เงาหมาในน้ำจึงไม่มีเนื้อในปากให้เห็น
เมื่อมันมองดูหมาอีกตัวดีๆ จึงรู้ว่าหมาตัวที่เห็นเป็นเงาของมันเอง จึงเสียใจ เพราะรู้ว่าเพราะความโง่ทำให้เสียอาหารชิ้นโตไปเสียแล้ว
องค์ธรรมจากนิทาน
จากเนื้อเรื่องในนิทานที่ดัดแปลงจากนิทานอีสปเรื่องนี้ สามารถอธิบายความหมายของอวิชชา อันเป็นเหตุที่ทำให้หมาเป็นทุกข์ เสียใจได้เป็นอย่างดี
อวิชชา นอกจากจะแปลว่า ความไม่รู้ (ความไม่รู้ทุกข์ - สมุทัย - นิโรธ - มรรค) แล้ว ยังแปลว่า ปัญญามาไม่ทันสถานการณ์ * ได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อเห็นเงาเนื้อในน้ำใหญ่กว่าชิ้นเนื้อที่ตนคาบอยู่ ด้วยความที่ไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี จึงเห็นเงาเนื้อเป็นชิ้นเนื้อจริงๆ
ซึ่งหากหมาหยุดตั้งสติและไตร่ตรอง หมาอาจไม่ต้องเสียอาหารมื้อนั้นไปก็ได้
เพราะอวิชชานั้น เป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่ทุกข์ตามกฏปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
(เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย      สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย        วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย       นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย   สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย   ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย         เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย        ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย        อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย       ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย              ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย            ชรามรณะ จึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้)
..............................................................................
*”ก.ความหมายอย่างง่าย
๑อวิชชา (ignorance,lack of knowledge) = ความไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมุติบัญญัติ ความไม่เข้าใจโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัย การไม่ใช้ปัญญา หรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยตฺโต) พุทธธรรมฉบับเดิม หน้า ๑๒๔



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น